ทับซ้อน=เลว (จริงหรือ?)

ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) เป็นวาทะกรรมที่เราได้ยินกันอย่างคุ้นหูในช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา และจะถูกใช้มากเป็นพิเศษเมื่อผู้พูดต้องการพูดถึงพฤติกรรมการคอรัปชั่นในรัฐบาลทักษิณ ซึ่งถูกมองว่ามีรูปแบบการคอรัปชั่นแตกต่างจากนักการเมืองในยุคสมัยอื่นๆ ที่มักจะกระทำกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีความซับซ้อน อาศัยเพียงอำนาจหรือเส้นสายที่มีตามตำแหน่ง ในการปิดป้องอำพรางขบวนการทุจริตเท่านั้น เช่น การรับเงินใต้โต๊ะจากผู้รับเหมาที่เข้าประมูลงานโครงการของรัฐ หรือการตั้งบริษัทอำพรางเพื่อเข้ามารับงานจากรัฐเสียเอง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ในยุคของรัฐบาลทักษิณ เรามักไม่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการคอรัปชั่นในรูปแบบเดิมๆนี้มากนัก แต่วาทะกรรมอื่นๆที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ เช่น การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ กลับถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง และวาทะกรรมเหล่านี้ก็ถูกตีความว่ามีความหมายเทียบเท่ากับคำว่า “ทุจริต” หรือ “โกง” โดยปริยายในเวลาต่อมา

คำถามคือ คำว่าผลประโยชน์ทับซ้อน นั้นหมายถึงหรือเทียบเท่าได้กับการโกงจริงหรือไม่?

แม้นิยามของคำว่าผลประโยชน์ทับซ้อนจะยังไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอย่างเป็นทางการ แต่หากลองสอบถามเอาตามความเข้าใจของผู้คนทั่วไป เราอาจได้คำตอบที่ไม่แตกต่างจากนี้มากนัก คือ หมายถึงการซ้อนกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวม กับผลประโยชน์ที่ได้รับส่วนตัว ของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่หรือตำแหน่งอันเป็นสาธารณะนั่นเอง นิยามดังกล่าวนี้ แม้เมื่อฟังผ่านๆ จะดูชัดเจนดี แต่ในความจริงแล้วได้ทิ้งคำถามข้อใหญ่ไว้ข้อหนึ่ง ที่หลายๆคนอาจจะมองข้าม หรือไม่ได้สนใจที่จะหาคำตอบมากนัก คือ เราจะกำหนดขอบเขตของคำว่า “ผลประโยชน์ส่วนตัว” ไว้ตรงไหน?

แน่นอนว่าหากผลประโยชน์ดังกล่าว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผู้มีอำนาจหรือครอบครัวโดยตรง ย่อมหนีคำครหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่พ้น แต่หากผลประโยชน์ดังกล่าว เกิดขึ้นกับเครือญาติห่างๆของผู้มีอำนาจ เราจะยังถือว่าผลประโยชน์ดังกล่าว เป็นการทับซ้อนหรือไม่? หรือหากผลประโยชน์ดังกล่าว เกิดขึ้นกับเพื่อนของผู้มีอำนาจผู้นั้น เราจะถือว่าเป็นการทับซ้อนหรือไม่ หรือหากเราสามารถหานักการเมืองที่ไม่เคยทำธุรกิจส่วนตัวเลย ไม่มีภรรยาและลูก ไม่มีญาติ ไม่มีเพื่อน แต่มีเพียงคนรู้จัก ที่เคยพบพูดคุยกันครั้งสองครั้ง แต่บังเอิญบุคคลดังกล่าว ได้ผลประโยชน์จากนโยบายของนักการเมืองผู้นั้น เช่นนี้ จะถือว่าเป็นการทับซ้อนหรือไม่?

ในวงการธุรกิจ เส้นแบ่งขอบเขตความทับซ้อนของผลประโยชน์นั้นได้ถูกขีดไว้อย่างชัดเจนด้วยนิยามของคำว่าบริษัท (หรือหน่วยธุรกิจอื่นๆ) ผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่ง ย่อมไม่มีสิทธิที่จะไปเป็นผู้บริหาร (หรือเจ้าของ) บริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่ง หรือมีธุรกิจใกล้เคียงกันได้ แต่ในทางการเมือง เราไม่สามารถที่จะกำหนดเส้นแบ่งที่ชัดเจนเช่นนั้น เพราะนักการเมืองไทย ย่อมมีหน้าที่ผูกพันในการทำประโยชน์ให้กับประชาชนชาวไทย อันหมายรวมถึงตัวนักการเมืองคนนั้นเอง ซึ่งก็เป็นคนไทยคนหนึ่งด้วย การที่เราจะหานักการเมืองในอุดมคติ ที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ กับผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทยเลย สามารถทำได้โดยการจ้างนักการเมืองที่เป็นชาวต่างชาติ มาบริหารประเทศแทนคนไทยเท่านั้น

การทับซ้อนของผลประโยชน์ในทางการเมือง จึงมิใช่หลักฐาน หรือเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า นักการเมืองผู้ได้รับซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นผู้ทุจริต คดโกง หรือไม่ทำตามหน้าที่ที่ประชาชนมอบหมายให้แต่อย่างใด หากแต่เป็น”สัญญานเตือน” ให้สื่อมวลชน องค์กรที่มีหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองคนดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ว่าผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น มีผลต่อการวางนโยบาย หรือการทำหน้าที่ของนักการเมืองผู้นั้นจริงหรือไม่ (เช่น หากไม่มีแรงจูงใจจากประโยชน์ทับซ้อนนั้นแล้ว นักการเมืองคนดังกล่าวอาจวางนโยบายเป็นอย่างอื่น ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า เป็นต้น)  ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการรวบรวมหลักฐาน และพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลต่อไป

การด่วนชิงสรุปอย่างคลุมเครือว่านักการเมืองคนใดมีผลประโยชน์ทับซ้อน แปลว่านักการเมืองคนนั้นไม่ซื่อสัตย์ ทุจริต หรือคดโกง จึงมิได้สร้างผลดีให้กับความเข้มแข็งของกระบวนการตรวจสอบ หรือช่วยลดปริมาณการทุจริตของนักการเมืองลงแต่อย่างใด หากแต่กลับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มอำนาจเพียงบางกลุ่ม ที่สามารถชีนิ้วกำหนดนิยามของคำว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ได้ตามใจชอบ ดังที่ทำมาแล้วกับนิยามของคำว่า “คนดี” “คนไทย” “รักชาติ” และวาทะกรรมอื่นๆ ที่เราได้ยินมาจนคุ้นเคย  เท่านั้น

4 Comments »

  1. tenniscp25 said

    การตัดสินว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าทับที่ไหนหรือทับกับใคร ประเด็นคือการทับนั้นมีความ *จงใจ* ให้ทับหรือไม่ ซึ่งก็พิสูจน์ยากและต้องพิสูจน์กันในศาลอย่างที่รุตว่า

    การที่เราจะหานักการเมืองที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ สามารถทำได้โดยการจ้างนักการเมืองที่เป็นชาวต่างชาติเท่านั้น <– อันนี้เราไม่เห็นด้วย แบบนี้แสดงว่ารุตเชื่อว่านักการเมืองไทย *ทุกคน* มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเหตุผลที่ให้มาข้างต้นไม่เกี่ยวข้องกับข้อสรุปนี้ และยังไม่มีหลักฐานอะไรที่พิสูจน์แนวคิดนี้ได้เลย

    สุดท้าย เห็นด้วยที่ว่าถ้ามีเรื่องทับซ้อน ต้องพิสูจน์ ไม่ใช่เชื่อแบบงมงาย
    แต่มันก็ยากนะ ขนาดรุตอ่านหนังสือเยอะ ข่าวก็ฟังเยอะ รวมๆ แล้วได้ข้อสรุปแบบนึง
    คนอื่น อ่านหนังสือก็เยอะ ฟังข่าวเยอะเหมือนกัน กลับได้ข้อสรุปอีกแบบ
    สุดท้าย ก็คงต้องไปตัดสินกันตอนเลือกตั้ง
    ห่วงอย่างเดียว คนบางกลุ่มที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเยอะแบบเราๆ อาจจะตัดสินใจไม่ดีพอ
    ผู้ใหญ่บ้านบอกให้เลือกก็เลือก ชอบพรรคนี้อยู่แล้ว เพราะ …(บลาๆ)… ก็เลือก
    หรือมีใครให้เงิน ใครพักหนี้ให้ ก็เลือก (อันนี้พูดกลางๆ นะ ไม่ได้เจาะจงพรรคไหน)

  2. tenniscp25 said

    อ่อ ลืมพูดไปอีกอย่าง

    เนื้อเรื่องที่รุตพูดมาทั้งหมดดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับการแยกแยะว่าแบบไหนทับซ้อนจริงหรือไม่ เราเห็นด้วย ว่าอย่าด่วนสรุปด้วยความเชื่อ
    แต่กับคำถามที่จั่วหัวว่า ทับซ้อน = เลว จริงหรือไม่ เราขอตอบดังๆ ว่า “จริงที่สุด”

  3. narut said

    หน้าที่ของนักการเมืองคือทำประโยชน์ให้คนไทย แต่ตัวนักการเมืองเองก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง ย่อมต้องได้รับผลประโยชน์นั้นด้วยไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ดังนั้นการทับซ้อนของผลประโยชน์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

    *ตัวอย่างเช่น การออกนโยบายเว้นภาษีให้ผู้ที่มีรายได้น้อยกว่าแสนบาทต่อปี ย่อมส่งผลถึงลูก ญาติ หรือคนรู้จักของนักการเมืองที่มีรายได้ไม่ถึงแสนบาทต่อปีด้วย หรือการตั้งกองทุนกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำให้กับประชาชน ย่อมต้องมีประชาชนบางส่วน นำเงินที่ได้มาซื้อสินค้าของบริษัทที่นักการเมืองผู้นั้น หรือเครือญาติ หรือเพื่อน หรือคนรู้จักเป็นเจ้าของ เป็นต้น

    การพิสูจน์ความตั้งใจ จงใจ หรือ intention ของคนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ยาก แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย (เพราะเราไม่สามารถอ่านความคิดคนได้) ดังนั้น สิ่งที่ควรจะถาม สุดท้ายแล้วอาจไม่ใช่คำถามที่ว่า “ทำแล้วนักการเมืองได้ผลประโยชน์หรือไม่?” แต่เป็น “ประชาชนได้ผลประโยชน์หรือไม่?” ต่างหาก

    *สองย่อหน้าหลัง ได้แรงบรรดาลใจ(ลอก)มาจาก BangkokPundit’s blog: http://asiancorrespondent.com/bangkok-pundit-blog/thaksin-s-unusual-wealth-an-update

  4. อาวุธ said

    เห็นด้วยกับให้ดูว่าประชาชน(ส่วนใหญ่)ได้ประโยน์หรือไม่ และในเมื่อแยกแยะไม่ได้ว่าทับซ้อนหรือไม่ จงใจ หรือ สุจริตใจ หรือไม่ ก็น่าจะสร้างบทลงโทษให้รุนแรงหากจับได้ว่ามีความผิดจริง
    เช่นกรณี ก.สธ. ข้อสำคัญอย่ามีสองมาตรฐานเลือกปฎิบัติ สังคมไทยผู้มีบารมี มีอำนาจ มีอิทธิพลเป็นผู้ออกกฎหมายเอง ใครจะยอมออกกฎหมายแรงๆมาเล่นงานคดีความผิดที่พวกตนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องด้วย นี่แหละประเทศไทย

RSS feed for comments on this post · TrackBack URI

Leave a comment