Archive for January, 2010

ทำไมเราถึงไม่สามารถหยุด tweet เกี่ยวกับ GT200 ได้?

เพราะว่าผู้สื่อข่าวชาวไทยของเราจะไม่ติดตามเรื่องนี้ไปจนจบด้วยตัวของพวกเขาเอง

ผู้สื่อข่าวของ BBC นั้นทำข่าวเรื่องเครื่อง ADE651 อย่างใกล้ชิด เพราะพวกเค้าเป็นห่วงชีวิตของทหารชาวอังกฤษที่ปฏิบัติงานในอิรัก ในขณะที่ผู้สื่อข่าวของ CNN ก็ติดตามเรื่องผู้อพยพชาวโรหิงยาอย่างถึงที่สุด เพราะพวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องของมนุษย์ธรรม แต่สำหรับนักข่าวชาวไทยแล้ว พวกเขาไม่สามารถคิดด้วยตัวเองเช่นนั้นได้ ว่าเรื่องใดสำคัญ หรือเป็นเรื่องที่ควรนำเสนอให้ชาวไทยและชาวโลกได้รับทราบ
พวกเขาเคยชินกับการรายงานเฉพาะสิ่งที่ได้รับแจ้งเท่านั้น พวกเขาคุ้นเคยกับการไปร่วมงานแถลงข่าวสักงานหนึ่ง หยิบขนมแจกฟรีกินสักชิ้นสองชิ้น รับเอกสาร PR ที่ผู้แถลงข่าวจัดเตรียมไว้ให้ จากนั้นก็กลับมาที่สำนักงานเพื่อลอกข่าวจากเอกสาร PR นั้นแบบทุกตัวอักษร การทำงานแบบ “มืออาชีพ” เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งจากนักข่าวชาวไทย

ดังนั้น รัฐบาลและผู้นำทหาร จึงเพียงแค่คอยยืนยันซ้ำๆว่า เครื่องมือ GT200 นั้นสามารถใช้งานได้และไม่จำเป็นที่จะต้องมีการทดสอบ ในขณะที่เสียงโต้แย้งจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างอ.เจษฎา ก็จะกลายเป็นประโยคซ้ำซาก (แม้ว่าจะมีเหตุผล และเป็นความจริง) ที่สื่อได้เคยนำเสนอไปหมดแล้ว ไม่นานนัก สื่อมวลชนไทยก็จะหมดความสนใจที่จะนำเสนอเรื่องนี้อีกต่อไป พวกเขาก็จะหันกลับไปรายงานเรื่องที่ไร้สาระ แต่สามารถหาข่าวมาเสนอได้ง่ายๆทุกวัน เช่น เรื่องโกหกของนาธาน โอมาน เป็นต้น

นั่นคือสาเหตุที่ทำไมเราจึงไม่สามารถหยุดการ tweet,  การเขียนบล็อก, โพสความเห็น, เขียนบทความ หรือแม้แต่พูดคุยกับคนอื่นๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ จนกว่าเราจะมั่นใจว่า เครื่องตรวจระเบิดลวงโลกนี้ จะไม่เป็นเพียงสิ่งที่ถูกลืมไปอย่างรวดเร็ว เหมือนที่เคยเกิดมาแล้วกับคดีตากใบ, การทำสงครามยาเสพย์ติด, กรณีโรหิงยา, เหตุสลดผับซานติก้า และเรื่องอื่นๆอีกมากมายในอดีต

เราไม่สามารถที่จะละเลยความผิดผลาดในการใช้ตรรกกะขนาดใหญ่ ที่มีผลกระทบถึงชีวิตคนมากมายขนาดนี้ได้ เราจำเป็นต้องเลือก ระหว่างการทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขความผิดพลาดนี้ หรือจะยอมใช้ชีวิตต่อไปในฐานนะพลเมืองของประเทศที่ได้ชื่อว่า”ล้มเหลวซึ่งการใช้เหตุผลอย่างสิ้นเชิง”

เราไม่มีสิทธิที่จะยอมแพ้ เพราะนี่คือหน้าที่ของเราในฐานะมนุษยชน

Leave a Comment

Why we can’t stop tweeting about GT200?

Because our (Thai) journalists will not naturally come to their sense and follow this story to the end by themselves.
Unlike BBC who follow the ADE651 closely over concern of their soldiers’ lifes, or CNN who report on Rohingya tirelessly out of their humanitarianism, the way our news reporter work are much much more passive than that.

They will report only what they’re told to. Living for too long in the comfortable of going to press conference, have some free snack, grab a press release, then come back to office and copy every single words from that PR paper, they don’t know any longer how to work (or think) professionally. All the authority need to do is keep repeating that the devices work, and that there’s no need for further investigation. Soon, reporters will found that there’s no new information lying around for them to easily pickup, and words of the Dr.Jessada will turn to be just a repeatedly annoying noise (no matter that it’s true and make logical sense). They’ll eventually forget about it and go back to Natan story.

That’s why we still need to tweet, blog, post, write, shout, or do what ever we can in our best capabilities, in order to make sure that this GT200 story won’t just fade away, like it used to happen with story of Takbai incident, war on drug, Rohingya, Santika, etc. The list just go on and on.

It’s not a choice for us to ignore this scale of logical error. It’s an ultimatum, do whatever we can to stop this madness, or live on as a member of a total rationally fail state.
We have no right to give up. This, is a moral duty for all of us.

Comments (2)

ทับซ้อน=เลว (จริงหรือ?)

ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) เป็นวาทะกรรมที่เราได้ยินกันอย่างคุ้นหูในช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา และจะถูกใช้มากเป็นพิเศษเมื่อผู้พูดต้องการพูดถึงพฤติกรรมการคอรัปชั่นในรัฐบาลทักษิณ ซึ่งถูกมองว่ามีรูปแบบการคอรัปชั่นแตกต่างจากนักการเมืองในยุคสมัยอื่นๆ ที่มักจะกระทำกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีความซับซ้อน อาศัยเพียงอำนาจหรือเส้นสายที่มีตามตำแหน่ง ในการปิดป้องอำพรางขบวนการทุจริตเท่านั้น เช่น การรับเงินใต้โต๊ะจากผู้รับเหมาที่เข้าประมูลงานโครงการของรัฐ หรือการตั้งบริษัทอำพรางเพื่อเข้ามารับงานจากรัฐเสียเอง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ในยุคของรัฐบาลทักษิณ เรามักไม่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการคอรัปชั่นในรูปแบบเดิมๆนี้มากนัก แต่วาทะกรรมอื่นๆที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ เช่น การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ กลับถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง และวาทะกรรมเหล่านี้ก็ถูกตีความว่ามีความหมายเทียบเท่ากับคำว่า “ทุจริต” หรือ “โกง” โดยปริยายในเวลาต่อมา

คำถามคือ คำว่าผลประโยชน์ทับซ้อน นั้นหมายถึงหรือเทียบเท่าได้กับการโกงจริงหรือไม่?

แม้นิยามของคำว่าผลประโยชน์ทับซ้อนจะยังไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอย่างเป็นทางการ แต่หากลองสอบถามเอาตามความเข้าใจของผู้คนทั่วไป เราอาจได้คำตอบที่ไม่แตกต่างจากนี้มากนัก คือ หมายถึงการซ้อนกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวม กับผลประโยชน์ที่ได้รับส่วนตัว ของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่หรือตำแหน่งอันเป็นสาธารณะนั่นเอง นิยามดังกล่าวนี้ แม้เมื่อฟังผ่านๆ จะดูชัดเจนดี แต่ในความจริงแล้วได้ทิ้งคำถามข้อใหญ่ไว้ข้อหนึ่ง ที่หลายๆคนอาจจะมองข้าม หรือไม่ได้สนใจที่จะหาคำตอบมากนัก คือ เราจะกำหนดขอบเขตของคำว่า “ผลประโยชน์ส่วนตัว” ไว้ตรงไหน?

แน่นอนว่าหากผลประโยชน์ดังกล่าว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผู้มีอำนาจหรือครอบครัวโดยตรง ย่อมหนีคำครหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่พ้น แต่หากผลประโยชน์ดังกล่าว เกิดขึ้นกับเครือญาติห่างๆของผู้มีอำนาจ เราจะยังถือว่าผลประโยชน์ดังกล่าว เป็นการทับซ้อนหรือไม่? หรือหากผลประโยชน์ดังกล่าว เกิดขึ้นกับเพื่อนของผู้มีอำนาจผู้นั้น เราจะถือว่าเป็นการทับซ้อนหรือไม่ หรือหากเราสามารถหานักการเมืองที่ไม่เคยทำธุรกิจส่วนตัวเลย ไม่มีภรรยาและลูก ไม่มีญาติ ไม่มีเพื่อน แต่มีเพียงคนรู้จัก ที่เคยพบพูดคุยกันครั้งสองครั้ง แต่บังเอิญบุคคลดังกล่าว ได้ผลประโยชน์จากนโยบายของนักการเมืองผู้นั้น เช่นนี้ จะถือว่าเป็นการทับซ้อนหรือไม่?

ในวงการธุรกิจ เส้นแบ่งขอบเขตความทับซ้อนของผลประโยชน์นั้นได้ถูกขีดไว้อย่างชัดเจนด้วยนิยามของคำว่าบริษัท (หรือหน่วยธุรกิจอื่นๆ) ผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่ง ย่อมไม่มีสิทธิที่จะไปเป็นผู้บริหาร (หรือเจ้าของ) บริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่ง หรือมีธุรกิจใกล้เคียงกันได้ แต่ในทางการเมือง เราไม่สามารถที่จะกำหนดเส้นแบ่งที่ชัดเจนเช่นนั้น เพราะนักการเมืองไทย ย่อมมีหน้าที่ผูกพันในการทำประโยชน์ให้กับประชาชนชาวไทย อันหมายรวมถึงตัวนักการเมืองคนนั้นเอง ซึ่งก็เป็นคนไทยคนหนึ่งด้วย การที่เราจะหานักการเมืองในอุดมคติ ที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ กับผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทยเลย สามารถทำได้โดยการจ้างนักการเมืองที่เป็นชาวต่างชาติ มาบริหารประเทศแทนคนไทยเท่านั้น

การทับซ้อนของผลประโยชน์ในทางการเมือง จึงมิใช่หลักฐาน หรือเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า นักการเมืองผู้ได้รับซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นผู้ทุจริต คดโกง หรือไม่ทำตามหน้าที่ที่ประชาชนมอบหมายให้แต่อย่างใด หากแต่เป็น”สัญญานเตือน” ให้สื่อมวลชน องค์กรที่มีหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองคนดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ว่าผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น มีผลต่อการวางนโยบาย หรือการทำหน้าที่ของนักการเมืองผู้นั้นจริงหรือไม่ (เช่น หากไม่มีแรงจูงใจจากประโยชน์ทับซ้อนนั้นแล้ว นักการเมืองคนดังกล่าวอาจวางนโยบายเป็นอย่างอื่น ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า เป็นต้น)  ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการรวบรวมหลักฐาน และพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลต่อไป

การด่วนชิงสรุปอย่างคลุมเครือว่านักการเมืองคนใดมีผลประโยชน์ทับซ้อน แปลว่านักการเมืองคนนั้นไม่ซื่อสัตย์ ทุจริต หรือคดโกง จึงมิได้สร้างผลดีให้กับความเข้มแข็งของกระบวนการตรวจสอบ หรือช่วยลดปริมาณการทุจริตของนักการเมืองลงแต่อย่างใด หากแต่กลับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มอำนาจเพียงบางกลุ่ม ที่สามารถชีนิ้วกำหนดนิยามของคำว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ได้ตามใจชอบ ดังที่ทำมาแล้วกับนิยามของคำว่า “คนดี” “คนไทย” “รักชาติ” และวาทะกรรมอื่นๆ ที่เราได้ยินมาจนคุ้นเคย  เท่านั้น

Comments (4)